เช้าวันนี้ (31 มี.ค.63) รศ.ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ตอบข้อซักถามของ “เมดเทคทูเดย์” เรื่องความพร้อมในการรับมือของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 1,500 รายแล้ว ว่าวิชาชีพเทคนิคการแพทย์มีการเตรียมความพร้อมองค์ความรู้ ทางด้านการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดใหม่ๆ แล้ว เพราะทุกครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็น เอดส์ ซาร์ส ไข้หวัดนก เทคนิคการแพทย์ ก็ร่วมเป็นทัพหน้าในการตรวจคัดกรองเชื้อโรคอันตรายเหล่านี้มาโดยตลอด ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบมาก่อนว่านักเทคนิคการแพทย์มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับเชื้อโรคร้ายทุกชนิดอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เทคนิคการแพทย์ทำงานอยู่เบื้องหลัง การรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ก็ใช้ประสบการณ์ที่เคยรับมือกับการตรวจเชื้อโรคร้ายที่ผ่านมาแล้ว มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อถามถึงขวัญและกำลังใจนักเทคนิคการแพทย์เวลานี้เป็นอย่างไร นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ตอบว่า นักเทคนิคการแพทย์ทุกคนยังมีขวัญและกำลังใจดี อาจจะมีความวิตกกังวลบ้างกับโอกาสการรับเชื้อ แต่ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ในภารกิจสำคัญนี้ ทุกคนทุ่มเท ทำงานกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ อดทน และเสียสละไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลอยู่พอสมควร แต่นักเทคนิคการแพทย์ก็พยายามแก้ปัญหา โดยดัดแปลง ประยุกต์วัสดุอุปกรณ์ที่พอหาได้มาใช้ไปพลางก่อน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม
นายกสภาฯ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.63) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน สภาเทคนิคการแพทย์ ได้เรียนที่ประชุมถึงเรื่อง การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันการติดเชื้อ การดูแล ขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกวิชาชีพที่มิใช่เฉพาะแพทย์และพยาบาล ในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจุบันนักเทคนิคการแพทย์ ในสถานพยาบาล 11% ของ 814 แห่ง ต้องร่วมในการเก็บตัวอย่าง Nasopharyngeal และ throat swab และตรวจหาไวรัส ตลอดจนตรวจเลือด ปัสสาวะจากผู้ป่วย ทั้ง COVID-19 และผู้ป่วยอื่นๆ รวมถึงการรับบริจาคโลหิตจากประชาชน ที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงรวมอยู่ด้วย นักเทคนิคการแพทย์ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพียงพอ และควรได้รับสวัสดิการเรื่องเสี่ยงภัย และการประกันภัย COVID-19 ที่ทัดเทียมกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ยังกล่าวด้วยว่า สภาเทคนิคการแพทย์มีความกังวลและห่วงใย เรื่องการใช้ COVID -19 Rapid test ที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปใช้ตรวจ การติดเชื้อ Corona virus ด้วยตนเองและสั่งซื้อ online ได้อีกด้วย โดยประเด็นที่กังวลมากคือ ความไวของชุดทดสอบ (Sensitivity) การแปลผล และเทคนิคการทดสอบ ชุดทดสอบที่มีความไวต่ำอาจทำให้ผลตรวจเป็น negative ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน และเป็นการทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายมากขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาต่อการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาด ซึ่งปัจจุบันก็ลำบากอยู่แล้วจะยิ่งลำบากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่การตรวจโดยใช้ชุดทดสอบนี้ ควรใช้โดยแพทย์และนักเทคนิคการแพทย์ ที่มีความรู้ในด้านการแปลผล และตรวจด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง ซึ่งสภาเทคนิคการแพทย์ได้นำเรียนให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทราบแล้ว เพื่อที่จะได้หาวิธีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สภาเทคนิคการแพทย์ และสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ได้จัดทำคำแนะนำเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนแล้ว
“ที่ผ่านมา นักเทคนิคการแพทย์ เป็นนักรบนิรนามผู้กล้าหาญ ในการเผชิญหน้ากับเชื้อโรคร้ายทุกชนิดโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบมาโดยตลอด การรับมือกับ COVID-19 ครั้งนี้ ก็คาดหวังว่า ประชาชนจะรู้จักบทบาทและความสำคัญของนักเทคนิคการแพทย์มากขึ้น ในฐานะเข็มทิศที่มีความสำคัญต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” นายกสภาเทคนิคการแพทย์กล่าว
นักเทคนิคการแพทย์เป็นแนวหน้าผู้กล้าครับไม่ใช่นักรบนิรนาม ผมไม่อยากให้พวกเราตีตราตัวเองเลยครับ